Home > รีวิวซีรีย์ > Eastern Promises กลับไม่ได้และยังไปไม่ถึง ซีรีย์ฝรั่ง

Eastern Promises กลับไม่ได้และยังไปไม่ถึง ซีรีย์ฝรั่ง

โพสเมื่อ วันที่ 21 March 2016 | เปิดอ่าน 1,088 views | หมวดหมู่ : รีวิวซีรีย์

รีวิวหนัง : Eastern Promises กลับไม่ได้และยังไปไม่ถึง

Eastern Promises กลับไม่ได้และยังไปไม่ถึง

วันที่เข้าฉาย 17-01-2008
แนวภาพยนตร์ Crime / Drama / Thriller
ผู้กำกับ
David Cronenberg
นักแสดงภาพยนตร์ กลับไม่ได้และยังไปไม่ถึง Eastern Promises
Josef Altin, Mina E. Mina, Aleksandar Mikic, Sarah-Jeanne Labrosse, Lalita Ahme, Badi Uzzaman, Naomi Watts,Viggo Mortensen

เกริ่นนำภาพยนตร์ กลับไม่ได้และยังไปไม่ถึง Eastern Promises

ในหนังเรื่อง A History of Violence งานก่อนหน้านี้ของผู้กำกับ เดวิด โครเนนเบิร์ก คงทำให้หลายคนจำฉากเปิดเรื่องได้อย่างไม่มีวันลืม มันเป็นฉากการฆ่าซึ่งเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน และคนดูไม่ได้เห็นกรรมวิธีการปลิดชีวิตโดยตรง แต่สิ่งที่นับว่าทารุณที่สุด คือ เหยื่อในฉากนั้นคือเด็กผู้หญิงตัวน้อยๆ ตัวละครซึ่งโดยธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปแล้ว – ไม่ว่าในหนังประเภทใดก็ตาม – ควรจะได้รับการไว้ชีวิต….

 
กลับไม่ได้และยังไปไม่ถึง Eastern Promises          กลับไม่ได้และยังไปไม่ถึง Eastern Promises

เนื้อเรื่องย่อภาพยนตร์ กลับไม่ได้และยังไปไม่ถึง Eastern Promises

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหนังของโครเนนเบิร์ก ไม่สามารถมองและตัดสินกันอย่างตื้นๆ แน่นอน เมื่อผนวกเข้ากับแก่นเรื่องของ A History of Violence มันคือกุศโลบายในการนำพาคนดูเข้าไปสัมผัสความรุนแรง ทั้งสาเหตุของปัญหา และทางแก้ที่คนดูมีหน้าที่นำไปคิดต่อยอดเอาเอง

Eastern Promises หนังเรื่องใหม่ของผู้กำกับชาวแคนาดาคนนี้ เปิดเรื่องด้วยฉากการตายถึง 2 ฉากติดต่อกัน ภาพที่ปรากฏบนจอดูรุนแรงกว่ามาก และเราได้เห็นเลือดไหลพุ่งออกมาจากร่างของผู้ตายจริงๆ เหยื่อคนแรกเป็นมาเฟียชาวรัสเซียที่กำลังนั่งตัดผมอยู่ ก่อนจะถูกเด็กหนุ่มหน้าตาอ่อนหัดเอามีดโกนปาดคอจนตายคาที่ รายที่สองเป็นเด็กสาวท้องแก่ที่พยายามหนีใครบางคนมาที่ร้านขายยา แล้วก็เป็นลมหมดสติไปพร้อมกองเลือดที่ไหลรั่วออกมาจากหว่างขา

การตายของทั้งสองคนนั้นนำคนดูไปสู่ตัวละครหลัก 2 ตัวที่อยู่บนเส้นขนานคนละเส้น นิโคไล (วิกโก มอร์เตนเซน) มาเฟียหนุ่มซึ่งเป็นลูกเลี้ยงของ เซมยอน (อาร์มิน มูลเลอร์-สตาห์ล) เจ้าพ่อชาวรัสเซีย (สายเติร์กและเชเช่น) ที่อพยพจากบ้านเกิดมาตั้งรกรากในลอนดอน โดยเปิดธุรกิจร้านอาหารบังหน้า และเบื้องหลังคือการทำค้าขายในตลาดมืดทุกรูปแบบ เซมยอนมีลูกชายแท้ๆ อยู่คนหนึ่งชื่อ คีริล (แวงซองต์ กัสเซล) แต่ก็ไม่ค่อยเป็นโล้เป็นพาย และมักจะปล่อยให้ลูกไล่อย่างนิโคไลเดินนำหน้าตลอดเวลา

นิโคไลและคีริลได้รับการขอร้องอย่างลับๆ ให้มาช่วยจัดการศพของมาเฟียตอนต้นเรื่อง คนดูได้รับทราบว่ามูลเหตุของความขัดแย้งที่นำไปสู่การตายเกิดจากการขัดผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ การการกำจัดศพก็เปิดเรื่องที่เล็กน้อยแบบเดียวกัน นิโคไลแสดงให้เห็นถึงความช่ำชองการการทำลายหลักฐานประเภทตัดข้อนิ้วมือของศพออก และดึงเอกสารสำคัญๆ ออกจากกระเป๋าเสื้อของผู้ตาย แล้วค่อยนำศพไปโยนทิ้งน้ำตื่นขึ้นมามองหน้าลูกสาวที่เกิดได้ทันเวลา วินาทีเดียวกับที่เด็กคลอดเป็นเวลาเดียวกับที่เธอตาย

 
กลับไม่ได้และยังไปไม่ถึง Eastern Promises          กลับไม่ได้และยังไปไม่ถึง Eastern Promises


หลักฐานที่หลงเหลือเพียงอย่างเดียวของเด็กสาวที่จะสามารถโยงไปสู่ครอบครัวของเธอได้ คือไดอารี่เล่มเล็กๆ ที่เธอเขียนเป็นภาษารัสเซีย แอนนาวานให้ลุงซึ่งเป็นรัสเซียอพยพเหมือนกันแปลความหมาย ส่วนตัวเธอก็พยายามหาเบาะแสด้วยตัวเอง จนได้ไปเจอกับเซมยอน

นอกเหนือจากพล็อตเรื่อง บทหนังของ สตีฟ ไนต์ (Dirty Pretty Things) น่าสนใจขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งตรงที่ตัวละครทุกตัวต่างสับเปลี่ยนและหยิบยื่นความอบอุ่นให้กันและกัน โดยไม่ได้มีสถานะของความเป็นพระเอก-ผู้ร้ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ในตอนแรกที่เซมยอนได้พบกับแอนนา รู้ทั้งรู้ว่าต่างฝ่ายต่างจะต้องมีลับลมคมในปิดบังไว้ แต่บทพูดที่ตอยโต้กลับดูอบอุ่นใจอย่างน่าประหลาด โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงเรื่องที่ว่า แอนนาต้องการพ่อ และเซมยอน ก็โหยหาต้องการลูกที่ดีและบริสุทธิ์ระหว่างแอนนาและนิโคไลก็เช่นกัน แม้ทั้งคู่จะปรากฏตัวในฉากเดียวกันน้อยมาก และต่างก็รู้จักกันอย่างผิวเผิน แต่ทันทีที่ได้อยู่ด้วยกัน นิโคไลแสดงท่าทีเกรี้ยวกราดน้อยลงและเป็นสุภาพบุรุษที่นุ่มนวลมากขึ้น

ที่ซับซ้อนมากขึ้นเห็นจะเป็นความสัมพันธ์ของนิโคไลและคีริล ทั้งสองคนผูกพันกันในฐานะพี่ชายน้องชาย แต่คีริลก็รู้สึกเกลียดพี่ชายต่างสายเลือดอยู่ลึกๆ เพราะเขาเก่งกว่าและผู้เป็นพ่อรักมากกว่า อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาที่ย่ำแย่และเปลี่ยวเหงาจนถึงที่สุด คีริลก็นึกถึงแต่นิโคไลคนเดียวเท่านั้น เดวิน โครเนนเบิร์กเคยให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่เขาสนใจมากที่สุดเวลาดูหนังแก๊งสเตอร์ ไม่ใช่ขบวนการที่ขึ้นโครงอย่างแยบยล หากแต่เป็นสภาวะทางจิตใจของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นโจร อะไรทำให้พวกเขาพลีตัวเข้าไปหาความรุนแรง และถึงขั้นยอมปวารณาตัวเองไปอยู่ในเขตแดนอันนอกเหนือกฎหมายและศีลธรรม

 
กลับไม่ได้และยังไปไม่ถึง Eastern Promises          กลับไม่ได้และยังไปไม่ถึง Eastern Promises

Eastern Promises ไม่ได้ให้คำตอบอย่างตรงไปตรงมานัก แต่หนังก็เลือกที่จะถ่ายทอดสภาวะแบบนั้นของนิโคไล มากกว่าจะไปเน้นย้ำว่าแก๊งมาเฟียชาวรัสเซียในลอนดอนโยงใยไปยังธุรกิจผิดกฎหมายใดบ้าง แน่นอน ประเด็นที่พูดถึงนี้ มันเกี่ยวข้องกับแก่นเรื่องที่โครเนนเบิร์กนำเสนออย่างซ้ำๆ ในงานทุกชิ้นของเขา

นักดูหนังที่ติดตามงานของเดวิด โครเนนเบิร์กมาพอสมควรคงจะทราบดีว่า เขาหลงใหล (และอาจถึงขั้นลุ่มหลง) เรื่องราวของอัตลักษณ์ที่สูญหาย การกลายสภาพจากสิ่งหนึ่งไปเป็นอีกสิ่งหนึ่ง และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่ถูกลดทอนด้วยเทคโนโลยี (เห็นได้ชัดเจนจาก Scanners, Videodrome และ The Fly) ในการตอบคำถามเหล่านั้น ตัวละครของโครเนนเบิร์กในหนังหลายเรื่องพลีกายให้ตนกลายเป็น “คนอีกคนหนึ่ง” เพื่อไขว่คว้าหาความสุขที่ตนเองก็ยังไม่แน่ใจ น่าสนใจที่นับตั้งแต่หนังเรื่อง eXistenZ (1999) เป็นต้นมา ตัวละครที่ยังคงเป็น “คนที่ไม่ใช่คน” เหล่านั้น กลับทำในอย่างตรงกันข้าม นั่นก็คือ การพยายามเปลี่ยนตัวเองให้กลายมาเป็นคนปกติ หลังจากได้รับทราบว่าการเปลี่ยนตัวเองไม่ได้คำตอบในการแสวงหาความสุขที่แท้จริง

ใน A History of Violence ตัวละครเอกของเรื่องตั้งใจลืมอดีตอันเลวร้ายและกลับตัวเป็นคนดีที่ใช้ชีวิตปกติเหมือนคนอื่นๆ แต่ดูเหมือนความชั่วร้ายได้เปลี่ยนตัวเขาไปมากเสียจนไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีก นิโคไลใน Eastern Promises ก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันนั้น โดยเนื้อแท้เขาอาจจะเป็นคนใฝ่ดี และยังมีความเมตตาหลงเหลืออยู่บ้าง แต่เงื่อนไขทั้งหลายทั้งปวงไม่ได้ยินยอมให้เขาเดินจากไปอย่างง่ายๆ (หนังใช้รอยสักของนิโคไลเป็นสัญลักษณ์ของการปวารณาตนอันศักด์สิทธิ)

บางช่วงบางตอนในไดอารี่ของเด็กสาวลึกลับคนนั้น เธอเล่าว่าจะอพยพจากรัสเซียมายังยุโรปเพื่อชีวิตที่ดีกว่า เธอจะเรียนร้องเพลง และหางานพิเศษทำด้วยการเป็นนักร้องประสานเสียงในโบสถ์ แต่ชีวิตก็ใจร้ายพอที่จะส่งให้เธอกลายมาเป็นโสเภณี ทั้งๆ ที่เธอมีอายุเพียง 14 ปีช่วงหนึ่งของการบันทึกความทรงจำ เธอไม่แน่ใจว่าตนเองจะต้องเดินไปในทางไหน คนในหมู่บ้านของเธอทุกคนเกิดที่นั่น และถูกฝังด้วยดินที่นั่น แต่กระนั้นการตายด้วยดินของแผ่นดินอื่น ก็ไม่ใช่สิ่งที่แน่นอนว่ามันจะดีกว่า

เดวิด โครเนนเบิร์กเล่าเรื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่หนักแน่น กระแทกกระทั้น บทสรุปที่หดหู่ แต่ก็ยังเปี่ยมไปด้วยความหวัง Eastern Promises แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนทำหนังเกรดเอด้วยพล็อตแบบหนังเกรดบีที่เก่งกาจที่สุดในปัจจุบัน

ดูหนังตัวอย่าง Eastern Promises กลับไม่ได้และยังไปไม่ถึง