Home > ที่พัก > ที่พัก อาศัยของมาตรฐานผู้สูงอายุไทย

ที่พัก อาศัยของมาตรฐานผู้สูงอายุไทย

โพสเมื่อ วันที่ 29 July 2018 | เปิดอ่าน 1,752 views | หมวดหมู่ : ที่พัก

ที่พัก ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ร่างกายมีสภาพเสื่อมถอย โดยมีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกและข้อ การลดลงของความสูงและน้ำหนัก ตลอดการเปลี่ยนแปลงท่าทางในการยืนและเดิน สำหรับประเทศไทยในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ในขณะที่มาตรการต่างๆ เพื่อรองรับผู้สูงอายุเหล่านั้นยังมีน้อย โดยเฉพาะมาตรการการจัดการด้านสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับผู้สูงอายุยังไม่แพร่หลาย มีเพียงมาตรการของรัฐจากแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545-2564) กำหนดให้จัดทำมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ ภายใน 5 ปี (สิ้นสุดปี พ.ศ.2550) และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 กำหนดให้รัฐออกมาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในอาคาร สถานที่ ในบริการสาธารณะ และในยานพาหนะ รวมทั้งจัดทำที่พักอาศัยให้กับผู้สูงอายุที่ประสบปัญหา นอกจากนี้ ในส่วนของการศึกษาวิจัยเรื่องสภาพที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุก็ไม่ได้รับความสนใจและแทบจะไม่มีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้

ดังนั้น ผศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์และคณะ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับที่พักอาศัย และสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ โดยการสนับสนุนของเครือข่ายวิจัยสุขภาพ สนมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นงานวิจัยในสหสาขา ทั้งการออกแบบทางสถาปัตยกรรม การออกแบบทางสถาปัตยกรรมภายใน การออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์-อุปกรณ์ประกอบในที่พักอาศัย การสำรวจขนาดร่างกายของผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งการพยาบาลผู้สูงอายุ ผลจากการศึกษาวิจัยดังกล่าว ทำให้ได้รับข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับที่พักอาศัย และสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ได้ทำการสำรวจผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์คนชราของรัฐ คลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาล และชมรมผู้สูงอายุภาคเอกชน กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 404 ตัวอย่าง โดยสำรวจตั้งแต่การวัดขนาดร่างกาย และการทดลองใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งภายนอกและภายในอาคาร ตลอดจนสภาพทั่วไปของผู้สูงอายุ

จากการสำรวจสภาพทั่วไปพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก/ข้อ/กล้ามเนื้อ/เอ็น รองลงมือ คือ โรคความดันโลหิตสูง และผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาการมองเห็นมากที่สุดส่วนอุบัติเหตุที่พบในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมาบ่อยที่สุด คือการหกล้

การใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุพบว่า ส่วนใหญ่ใช้เวลานานที่สุดอยู่ในห้องนั่งเล่น รองลงมา คือ ห้องนอน ทางด้านสภาพความเป็นอยู่พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่กับคู่สมรส อีกทั้งพบข้อมูลด้วยว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีบุตร แต่ไม่ได้อยู่กับบุตร ทางด้านที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุพบว่า อาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวมากที่สุด รองลงมาคือบ้านไม้ยกพื้น นอกจากนี้ยังพบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใช้สอย สภาพแวดล้อม และทางด้านความสะดวกสบาย อีกทั้งไม่เคยคิดที่จะย้ายออกไปจากที่อยู่ปัจจุบัน

จากการให้ผู้สูงอายุทดลองใช้อุปกรณ์ชิ้นต่างๆ ซึ่งแยกเป็นอุปกรณ์นอกอาคารและในอาคาร คณะวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุต้องการใช้อุปกรณ์ที่มีความปลอดภัย และไม่ยุ่งยากที่จะใช้งาน มีตัวอย่าง ดังนี้

ราวจับทั่วไป ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เลือกราวจับที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5 เซนติเมตร และมีระดับที่สูงจากพื้น 0.8 เมตร สำหรับวัสดุที่ใช้ทำราวจับส่วนใหญ่เลือกสแตนเลส

ความสูงลูกตั้งบันได ส่วนใหญ่เลือกที่ความสูง 130 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่ระบุในร่างกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราในอาคารที่กำหนดให้ความสูงไม่เกิน 150 มิลลิเมตร เป็นข้อสังเกตว่ามาตรฐานที่กำหนด อาจใช้ไม่ได้กับผู้สูงอายุชาวไทยเนื่องจากความแตกต่างด้านสรีระ และความสามารถทางร่างกายของผู้สูงอายุและผู้พิการแตกต่างกัน

ราวจับในห้องน้ำบริเวณโถส้วม ผู้สูงอายุเลือกราวติดพื้น 2 ข้างมากที่สุด

สวิทซ์ไฟฟ้า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เลือกสวิทซ์ที่มีลักษณะอย่างเดียวกับสวิทซ์ที่พบเห็นได้ทั่วไป มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก แสดงว่าผู้สูงอายุเลือกใช้อุปกรณ์ที่คุ้นเคยอยู่แล้ว

ปลั๊กไฟฟ้า ที่เลือกมากที่สุดคือ ปลั๊กที่มีสวิทซ์หลายช่อง

โถสุขภัณฑ์ จากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุที่เลือกโถสุขภัณฑ์แบบสูงและแบบต่ำ มีจำนวนใกล้เคียงกัน

การใช้สี สีของตัวอักษรที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มองเห็นชัดเจนมากที่สุดคือ ตัวอักษรสีน้ำเงินบนพื้นสีขาว ส่วนการเลือกสีขาว- ดำ พบว่าความชัดเจนในการมองเห็นคือ อักษรสีดำพื้นสีขาว

ก๊อกน้ำ รูปแบบของก๊อกน้ำ ค่อนข้างจะกระจายการเลือกแบบ แต่แบบที่เลือกมากคือ แบบปัดไปด้านข้าง

ทางลาด ส่วนใหญ่เลือกความชันระดับ 9 องศา

ลูกบิดประตู ผู้สูงอายุเลือกแบบมีร่องมากที่สุด

มือจับประตู แบบที่เลือกมากที่สุด คือแบบที่มีก้านจับและมือไม่ลื่นหลุดได้ง่าย

กลอนประตู แบบที่ผู้สูงอายุเลือกมากที่สุด คือ แบบที่มีกลไกในการล็อกที่ค่อนข้างซับซ้อนมากกว่าแบบอื่น

พื้นถนนในที่พัก ส่วนใหญ่เลือกคอนกรีตตัวหนอนมากที่สุด

พื้นชานบ้านหรือระเบียง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เลือกทรายล้างมากที่สุด

พื้นทางเดินเท้า กรวดล้างคือวัสดุที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เห็นว่าเหมาะสมกับทางเดินเท้ามากที่สุด

ลานกิจกรรม เช่น ลานกิจกรรมที่ใช้ออกกำลังกาย ผู้สูงอายุเลือกพื้นทรายล้างมากที่สุด

พื้นผิวที่ให้ความรู้สึกปลอดภัยในการเดิน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เลือกทรายล้าง

พื้นผิวที่ให้ความรู้สึกเดินสบาย พื้นผิวที่เหมาะสมที่สุดคือ ทรายล้าง

พื้นผิวที่ให้ความรู้สึกสวยงาม ผู้สูงอายุเลือกพื้นผิวหินอ่อนมากที่สุด

พื้นผิวที่เป็นบล็อกปูถนน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เลือกใช้คอนกรีตตัวหนอนมากที่สุด

รั้ว ความสูงของรั้วที่เลือกมากที่สุดอยู่ที่ 1.20 เมตร

เก้าอี้ ผู้สูงอายุเห็นว่าชุดเก้าอี้ไม้ที่มีพนักพิงเหมาะสมในการใช้ที่สุด

ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ สามารถนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการออกแบบและใช้งานได้เลยอย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยได้เสนอแนะให้สำนักมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) จะต้องปรับปรุงข้อมูลสรีระร่างกายกลุ่มผู้สูงอายุไทยให้ทันสมัยเป็นระยะๆ สำหรับข้อมูลสภาพการอยู่อาศัยของกลุ่มตัวอย่าง สามารถนำไปเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างอื่นๆ ได้ เช่นเดียวกัน เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลทำให้ข้อมูลที่ได้มีความเหมือนหรือต่างกัน ส่วนระดับของข้อมูลการทดสอบอุปกรณ์ สามารถใช้เป็นแนวทางในการออกแบบสภาพแวดล้อมทางกายภาพ โดยนำข้อมูลการวัดสรีระร่างกายผู้สูงอายุมาเปรียบเทียบก่อนการใช้งาน และข้อมูลระยะมาตรฐานในการออกแบบเป็นระยะมาตรฐานแนะนำ เพื่อประกอบในการออกแบบ

  • ข่าวที่น่าสนใจ
  • ข่าวที่เกี่ยวข้อง