Home > รีวิวหนัง > 5 เซียนยอดวรยุทธ์ หนังจีนกำลังภายใน

5 เซียนยอดวรยุทธ์ หนังจีนกำลังภายใน

โพสเมื่อ วันที่ 28 April 2016 | เปิดอ่าน 1,613 views | หมวดหมู่ : รีวิวหนัง

หนังจีนกำลังภายใน

‘เพชรไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ยังเป็นเพชรอยู่เสมอ’ หนังจีนกำลังภายใน

คงไม่กล่าวถึงเป็นไม่ได้กับฝีไม้ลายมือจาก 5 นักแสดงคู่บุญหนังจีนกำลังภายในสมัยก่อน ด้วยทักษะการแสดงที่กินใจคนดูมานักต่อนัก ทำให้พวกเขาเหล่านี้กลายเป็นขวัญใจคอหนังแผ่นดินใหญ่กันทั่วหน้า เพราะด้วยความสามารถที่ล้นหลามทำให้ภาพยนตร์ในแต่ละเรื่องที่พวกเขาเหล่านี้แสดงนั้น ถูกกล่าวขวัญว่าเป็นตำนานและป็นที่ชื่นชอบอย่างมากสำหรับแฟนๆ ‘พรแสวงที่ไม่ได้มาจากสวรรค์’ ทำให้นักแสดงทั้ง 5 ท่านนี้ต้องฝึกฝนและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ โดยจะมีใครรู้บ้างหรือไม่ว่าเส้นทางการเดินทางจากดินไปสู่ดวงดาวของพวกเขาเหล่านี้เป็นมาได้อย่างไร HOLLYWOOD HDTV  ทราบถึงคุณค่าและเรื่องราวที่น่าสนใจของนักแสดงแต่ละท่าน จึงได้ร่วมกับคุณไอซ์ พรรษกร งาเนีย รวบรวมชีวะประวัติของแต่ละนักแสดงพร้อมเรื่องราวที่น่าสนใจมาให้แฟนๆ ได้ทราบกันครับ

01
เดวิด เจียง

เดวิดเจียงมีชื่อจีนว่าเจียงต้าเว่ย เขาโด่งดังมากับการเป็นพระเอกในหนังจางเชอะ จัดได้ว่าเป็นนักแสดงของจางเชอะรุ่นที่ 2 ต่อจากหวังอยู่ หลังจากที่หวังอยู่ที่โด่งดังสุดขีดกับหนังเรื่องเดชไอ้ด้วน (One-Armed Swordsman) (1967) ได้มีปัยหากับจางเชอะและแยกตัวออกไป ทำให้จางเชอะต้องหาพระเอกคนใหม่และได้เดวิดเจียงที่เคยเป็นตัวประกอบในหนังของเขามารับบทเป็นพระเอกคนต่อไป

เดวิดเจียงมีรูปร่างเล็ก คล่องแคล่ว และมีรอยยิ้มที่มีเสน่ห์ แม้ว่าเดวิดเจียงจะดูไม่เคร่งเครียดจริงจังเหมือนหวังอยู่ แต่เขามีบุคลิกของความเย้ยหยัดมากกว่า หนังของเดวิดเจียงหลายเรื่องเขาจะมักรับบทเป็นคนเดียวดาย ไม่ยี่หระกับชีวิต เย้ยหยันสังคม บุคลิกแบบนี้กลายเป็นที่ติดตัวเขามาอีกนาน หนังเด่นของเดวิดเจียงในยุคจางเชอะมีอยู่มากมายตั้งแต่ยุคแรกที่จางเชอะทำหนังกำลังภายใน อาทิ  ดาบไอ้หนุ่ม (Have Sword Will Travel) (1969), แค้นไอ้หนุ่ม (Vengeance !) (1970), 13 พยัคฆ์ร้ายค่ายพระกาฬ (The Heroic Ones) (1970) และเดชไอ้ด้วน ภาค 3 (The New One-Armed Swordsman)

ต่อมามาจางเชอะหันมาทำหนังกังฟูมากขึ้น เดวิดเจียงก็ยังมาแสดงให้กับจางเชอะอีกหลายเรื่อง อาทิ แค้นไอ้หนุ่ม (The Duel)  (1971), ไอ้หนุ่มหมัดสั่ง (Duel of Fists)} เดชไอ้เปีย (The Blood Brothers) (1973), 5 พยัคฆ์หนุ่ม (Five Shoalin Masters) (1974) และ 9 พยัคฆ์เจ้าพญายม (Shaolin Temple) (1976) หลังจากที่ขางเชอะมีนักแสดงในรุ่นต่อ ๆ มามากขึ้นผลงานของเดวิดเจียงกับจางเชอะก็ค่อย ๆ น้อยหลง แต่เขาก็ยังมีผลงานกับผู้กำกับคนอื่น ๆ อีกไม่ว่าจะเป็นหลี่ฮั่นเสียงใน ซูสีไทเฮา (The Empress Dowager) (1975) ฉู่หยวน ใน ศึกยุทธจักรบัลลังก์เลือด (Murder Plot) (1979) หลิวเจียเหลียง ใน ฤทธิ์หมัดตั๊กแตน (Shaolin Mantis) (1978) หรือ ซุนชัง ใน ถล่มไอ้เถรเหล็ก (Judgment of an Assassin) (1977) เป็นต้น

ทุกวันนี้เดวิดเจียงยังมีผลงานการแสดงอยู่บ้างและกลายเป็นหนึ่งในตำนานสำคัญของหนังฮ่องกงอีกคนหนึ่ง

02
ตี้หลุง

ตี้หลุงเป็นนักแสดงในรุ่นสองของจางเชอะควบคู่กับเดวิดเจียง แต่บทบาทของตี้หลุงในหนังของจางเชอะจะด้อยกว่าเดวิดเจียงเล็กน้อย กระนั้นทั้งสองคนก็แสดงเข้าคู่กันได้เป็นอย่างดี ด้วยบุคลิกที่แตกต่างกัน ในขณะที่เดวิดเจียงรูปร่างเล็ก มักจะรับบทเป็นคนเจ้าความคิดลึกซึ้งและดูเย้ยหยัน แต่ตี้หลุงแทบจะอยู่ในทิศทางตรงกันข้าม ตี้หลุงในหนังของจางเชอะกลับดูดุดัน ห้าวหาญ ใจร้อนและบางครั้งก็มุทะลุ 

บทบาทของตี้หลุงมักจะเป็นรองเดวิดเจียงเสมอในหนังของจางเชอะ อาทิ ดาบไอ้หนุ่ม (Have Sword Will Travel) (1969), 13 พยัคฆ์ร้ายค่ายพระกาฬ (The Heroic Ones) (1970), แค้นไอ้หนุ่ม (The Duel) (1971), คู่โหด (Deadly Duo) (1971) แต่บางครั้งก็ได้บททัดเทียมกัน แต่ตี้หลุงกลับเป็นตัวร้ายใน เดชไอ้เปีย (The Blood Brothers) (1973) ซึ่งเป็นไม่กี่เรื่องที่เขารับบทเป็นตัวร้าย และเพราะฝีมือการแสดงที่ยอดเยี่ยมของตี้หลุงทำให้เขาเป็นตัวร้ายที่โด่งดังมากเช่นกัน ตี้หลุงยังคงแสดงร่วมกับเดวิดเจียงในหนังของจางเชอะไปจนถึงยุคที่จางเชอะใช้นักแสดงขุดใหม่มาแทนที่พวกเขา ถึงกระนั้นตี้หลุงก็ยังมาแสดงของจางเชอะบ้างประปราย อาทิ สิบพยัคฆ์กวางตุ้ง (Ten Tigers of Kwantung) (1979) และ มังกรหยก ภาค 3 (The Brave Archer 3) (1981)

ตี้หลุงมาโด่งดังสุดขีดในช่วงปลายทศวรรษ 70 เมื่อเขาได้แสดงหนังของผู้กำกับฉู่หยวนที่สร้างหนังจากนิยายของโกวเล้งไว้มากมาย และมักจะมีตี้หลุงมารับบทเป็นพระเอกเสมอ ตี้หลุงจึงเป็นนักแสดงเพียงไม่กี่คนที่ได้แสดงหนังเป็นตัวเอกจากหนังสือของโกวเล้งมากที่สุด อาทิ เป็น ชอลิ้วเฮียงใน ศึกวังน้ำทิพย์ (Clans of Intrigue) (1971) และศึกวังค้างคาง (The Legend of Bat) (1978) เป็นลี้คิมฮวง ใน ศึกยุทธจักรหงส์บิน (The Sentimental Swordsman) (1977)และ ฤทธิ์มีดสั้นลี้คิมฮวง (The Return of Sentimental Swordsman) (1981)เป็นฟู่หงเซียะ ใน จอมดาบเจ้ายุทธจักร (The Magic Blade) (1976) และ เทพบุตรหิมะแดง (Pursuit of Vengeance) (1977) และยังเป็นเซียวจับอิดนึ้งใน ศึกยุทธจักรวังทอง (Swordsman and Enchantress) (1978)

ตี้หลุงยังมีผลงานเรื่องดังอีกมามมายในช่วงนั้นและทำให้ชื่อเสียงของเขาแซงหน้าเดวิดเจียงไปมาก แต่ถึงอย่างไรชื่อของเดวิดเจียงและตี้หลุงจะถูกเอ่ยถึงร่วมกันเสมอเมื่อพูดถึงหนังของชอว์บราเดอร์ส

03
หลินไต้

ถ้าจะถามว่าใครคือราชินีของหนังชอว์บราเดอร์ส คำตอบอาจจะไม่ได้อยุ่ที่นักแสดงในยุคหลังของสตูดิโอนี้เพราะมีนักแสดงหญิงที่โดดเด่นหลายคน แต่นักแสดงหญิงที่โดดเด่นที่สุดของชอว์บราเดอร์สคือนักแสดงที่มีผลงานในยุค 50 ต่อเนื่องมาถึงต้นยุค 60 คือคือหลินไต้ หรือ ลินดา หลินไต้ นั่นเอง

แม้ว่าหลินไต้จะไม่ได้ถือกำเนิดจากหนังของชอว์บราเดอร์สแต่เธอกลับมีผลงานโด่งดังในสังกัดชอว์บราเดอร์สแทบทั้งสิ้น ผลงานของเธอมีทั้งที่เป็นหนังชีวิตบีบน้ำตาอย่าง ปู้เหลียงฉิง (Love without End) (1961) หรือหนังพีเรียดอย่าง เตียวเสี้ยน (Diau Charn) (1958) หรือหวังเจาจิน (Beyond the Great Wall) (1964) แต่หนังที่ทำให้หลนไต้ถูกจดจำมากที่สุดคือคือ จอมใจจักรพรรดิ (The Kingdom and the Beauty) (1959) ที่ไม่ว่าจะสร้างใหม่สักกี่ครั้งคนดูก็ยังฉบับสุดคลาสสิกฉบับนี้ได้อยู่เสมอ หลินไต้ยังมีผลงานในแนวแฟนตาซีเด่น ๆ อยู่อีกคือ นางพญางูขาว (Madame White Snake) (1962) และอภินิหารโคมวิเศษ (The Lotus Lamp) (1965) ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายนชีวิตของเธอ

ความสำเร็จของหลินไต้นั้นยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่นักแสดงคนหนึ่งจะทำได้ นั่นคือการได้รับรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมจากงานแสดงภาพยนตร์แห่งเอเชียถึง 4 ปีติดต่อกัน ระหว่างปี 1959 ถึง 1962 นับเป็นความภาคภูมิใจครั้งยิ่งใหญ่ของคนฮ่องกงเลยทีเดียว หลินไต้ยังเป็นนักแสดงเพียงคนเดียวที่มีรูปอยู่บนสแตมป์ของฮ่องกงนั่ย่อมแสดงให้เห็นถึงความรักที่ช่าวฮ่องกงมีต่อเธอ

แต่ความสำเร็จไม่อาจแลกมาด้วยความสุข หลินไต้ตัดสินใจยุติชีวิตตัวเองจากปัญหาครอบครัวในปี 1964 เหลือเพียงความทรงจำที่ให้คนได้รำลึกถึงเธอเพียงแต่ภาพจากแผ่นฟิล์ม 

04
ฟู่เซิง

ฟู่เซิง หรือ อเล็กซานเตอร์ฟู่เซิงคือนักแสดงที่มีความสามารถเฉพาะตัว มีความแคล่วคล่องในบทแอ๊คชั่นเป็นพิเศษ บุคลิกของเขาที่ดูร่าเริงสนุกสนานทำให้เขาได้รับบทเด็กหนุ่มจอมทะเล้นอยู่เสมอ ๆ เขาเป็นนักแสดที่เกิดขึ้นเพราะการส่งเสริมของจางเชอะและเริ่มได้รับบทนำตั้งแต่ช่วงกลางยุค 70 การมาถึงของฟู่เซิงทำให้นักแสดงขาประจำของจางเชอะอย่างเดวิดเจียงและตี้หลุงค่อย ๆ ลดบทบาทไป พอดีกับที่เป็นช่วงที่จางเชอะเริ่มทำหนังแนวหมัดมวย (Martial Arts) มากขึ้น ซึ่งฟู่เซิงมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนมากกว่า

ในหนังมวยของจางเชอะแม้ฟู่เซิงจะรับบทบาทที่หลากหลายแต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นหนังที่มีฉากหลังเป็นช่วงปลายราชวงศ์ชิงรวมถึงกรณีการเผาวัดเส้าหลินไต้ของางวงศ์แมนจู บทบาทหนึ่งที่ฟู่เซิงได้รับและแสดงจนกลายเป็นบทประจำตัวไปแล้วคือบทฟางซื่ออี้ (ปึงซี่เง็ก) ที่เขารับบทนี้หลายครั้ง อย่างเช่นนเรื่อง สิงห์คู่จอมสังหาร (Heroes Two) (1974) ที่ฟู่เซิงรับบทนำเป็นครั้งแรก ยังมีบทบาทเดียวกันนี้ใน จ้าวพญายม (Men from the Monastery) (1974), 9 พยัคฆ์เจ้าพญายม (Shaolin Temple) (1976) และไอ้หนุ่มมนุษย์เหล็ก (The Shaolin Avengers (1978),

ใช่ว่าฟู่เซิงจะโดดเด่นแต่เฉพาะหนังหมดมวยของจางเชอะแต่เพียงอย่างเดียว เขายังมีหนังในแนวทางอื่นที่สร้างชื่อให้กับเขาอีกไม่น้อย อาทิ การได้รับบทเป็นซียวฮื้อยี้ ใน เดชเซียวฮื้อยี้ (The Proud Twins) (1979) และยังมีงานเด่นกับผู้กำกับซุนชังอย่าง ถล่ม 13 เจ้าอินทรี (The Avenging Eagle) (1978) และ ฤทธิ์ดาบหัก (The Deadly Breaking Sword) (1979) แต่เรื่องที่ทำให้ฟู่เซิงเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดก็ยังเป็นผลงานงานของจางเชอะที่สร้างมาจากวรรณกรรมที่โด่งดังที่สุดของกิมย้งเรื่องมังกรหยก และฟู่เซิงรับบทเป็นก๊วยเจ๋งในไตรภาคมังกรหยก (The Brave Archer Trilogy) (1977, 1978, 1981) และเขายังมารับบทเอี้ยก่วยต่อใน มังกรหยก ภาค 4 (The Brave Archer and His Mate) (1982) แต่แล้วก่อนที่จะไปได้ไกลกว่านั้นฟู่เซิงเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี 1984 นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการหนังฮ่องกงเลยทีเดียว

ฟู่เซิงจึงจากไปพร้อมกับการค่อย ๆ ตกต่ำลงของชอว์บราเดอร์สในเวลาต่อมา

05
เจิ้งเพ่ยเพ่ย

ในยุคที่หนังจีนฮ่องกงเริ่มพลิกโฉมจากหนังเพลงและหนังชีวิตมาสู่หนังแอ๊คชั่นนั้น หนังเรื่องสำคัญที่มีส่วนอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงนั่นคือ หงส์ทองคะนองศึก (Come Drink with Me) (1966) ที่ความโด่งดังของหนังเรื่องนี้กลายเป็นแม่แบบให้กับหนังในยุคต่อมาและสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญให้กับวงการหนังฮ่องกง ในการเกิดของหนังกำลังภายในยังเป็นการเกิดของนักแสดงนำของเรื่องอีกด้วย เธอคนนั้นคือเจิ้งเพ่ยเพ่ยที่เติบโตมาจากนักเรียนการแสดงของชอว์บราเดอร์ส มีผลงานเพียงตัวประกอบก่อนหน้านั้นมาไม่กี่เรื่องเท่านั้นเอง

สาววัยรุ่นหน้าใส หน้าตาน่ารักดูจะไม่เข้ากันเลยกับหนังกำลังภายใน แต่เจิ้งเพ่ยเพ่ยกลับทำได้ ความน่ารักของเธอทำให้บทบาทในหนังที่ต้องปลอมเป็นชายมีเสน่ห์ขึ้นมาทันที อยากหญิงสาวที่อยากเป็นนักเต้นได้กลายมาเป็นนางเอกสาวนักบู๊ ผลงานเธอต่อจากนั้นจึงมักจะเป็นหนังแอ๊คชั่นเสียเป็นส่วนใหญ่ มีทั้งเรื่องที่เป็นผลงานกำกับของจางเชอะอย่าง หงส์ทองคะนองศึก ภาค 2 (Golden Swallow) (1968), มีดสั้นทะยานฤทธิ์ (The Flying Dagger) (1969) หรือผลงานกำกับของคนอื่น ๆ อย่าง หยกฟ้าประกาศิต (The Jade Raksha) (1968), ดาบมังกรหยก (Dragon Swamp), หงส์ฟ้าแส้พญายม (The Shadow Whip) (1971) หรือ นางสิงห์เจ้าพยัคฆ์ (The Lady Hermit) เรียกได้ว่าช่วงหนึ่วของชอว์บราเดอร์ส เธอคือนางเอกอันดับหนึ่งเลยทีเดียว

หลังจากผ่านเวลาอันรุ่งโรจน์ เจิ้งเพ่ยเพ่ยแต่งงานและย้ายไปอยู่ต่างประเทศตามที่นักแสดงหญิงหลายคนของฮ่องกงทำกัน แต่แล้ววันหนึ่งเจิ้งเพ่ยเพ่ยก็กลับมาอีกครั้ง แม้วัยจะล่วงเลยไป สังขารเริ่มร่วงโรย แต่ความสามารถไม่เคยหายไป เจิ้งเพ่ยเพ่ยกลับมามีผลงานเด่นอีกครั้งกับหนังจีนเรื่องดัง พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก (Crouching Tiger, Hidden Dragon) (2000) กับบทจิ้งจอกเงิน และนั่นคือเครื่องที่ตอกย้ำความสามารถที่ไม่เคยจางหายของเธอ วันเวลาคือเครื่องพิสูจน์แล้วว่า นางแอ่นทอง จากเรื่องหงส์ทองคะนองศึก คือจอมยุทธที่แท้จริง

Tags:

  • ข่าวที่น่าสนใจ
  • ข่าวที่เกี่ยวข้อง
  • 10 หนังดี มีความลับ ที่ผู้กำกับไม่ได้บอก (แต่เราจะเฉลย!!)
    เมื่อความสนุกของผู้กำกับซ่อน 10 ฉากแห่งความลับเอาไว้ในหนังอย่างแนบเนียน เคยสังเกตกันบ้างไหมว่าฉากหนังแต่ละเรื่องนี้กำลังบอกอะไรเราอยู่ ความสนุกและน่าติดตามในหนังแต่ละเรื่องต่อไปนี้จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อคุณรู้ว่าในแต่ละฉากนั้นมีมากกว่าภาพที่เราเห็น และนี่คือตัวอย่าง 10