Home > รีวิวหนัง > กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน

กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน

โพสเมื่อ วันที่ 11 April 2016 | เปิดอ่าน 1,003 views | หมวดหมู่ : รีวิวหนัง

รีวิวหนัง : รีวิว “กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน” หนังฟิล์มนัวร์ เรื่องแรกของไทย

รีวิว “กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน” หนังฟิล์มนัวร์ เรื่องแรกของไทย

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ มีหนังไทยเรื่องหนึ่งที่ถือว่าโดดเด่นมากในยุคนั้น ยุคที่หนังวัยรุ่นเริ่มมาแรง กระแส จินตหรา-สันติสุข คู่พระนางยอดนิยมกำลังพุ่งสูง มานพ อุดมเดช ผู้กำกับมากฝีมือของวงการหนังไทย ได้เข็น “กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน”ออกสู่สาธารณชน ท่ามกลางความงุนงงของคนไทยว่า “นี่มันหนังห่าอะไรวะเนี่ย”
ว่ากันว่าถึงตอนนี้ กะโหลกบางตายช้าฯ ก็ยังได้รับการยกย่องว่าเป็น ฟิล์มนัวร์ เรื่องแรกและเรื่องเดียวของไทย แม้จะมีหลายเรื่องที่พยายามทำออกมาในแนวเดียวกัน แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าฟิล์มนัวร์เต็มๆ ตัว แล้วฟิล์มนัวร์มันคืออะไรล่ะ
ฟิล์มนัวร์ (Film Noir) แปลตามตัวก็คือหนังมืด แปลเอาความก็คือคำที่ใช้เรียกชื่อภาพยนตร์ประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งในแง่ของภาพและเนื้อหา หนังประเภทนี้จะสะท้อนด้านมืดของมนุษย์และสังคมออกมาทั้งในด้านภาพ คือจะมีโทนสีที่มืดทึบ หม่น แสงต่ำ (Low Key) เน้นเหตุการณ์ ช่วงกลางคืน ส่วนในด้านเนื้อหาก็จะว่าด้วยอาชญากรรม การทรยศ ความตาย การหลอกลวง ความรุนแรง กิเลสตัณหา และที่ขาดไม่ได้ก็คือผู้หญิง หนังแนวนี้จะมีผู้หญิงที่เป็นตัวนำไปสู่จุดจบของตัวละคร ซึ่งก็แน่นอนว่าจะต้องเกิดจากความละโมบ ความลุ่มหลง ตัณหา และความสัมพันธ์ที่ผิดทำนองคลองธรรม
คนดูจะแยกตัวละครในหนังนัวร์แทบไม่ออกว่าใครดีใครเลว (จะเลวกันเสียเป็นส่วนใหญ่) แม้หนังจะเวียนวนอยู่ในโลกแห่งอาชญากรรมแต่ผู้ชมก็ยังอดเอาใจช่วยตัวละครไม่ ได้แม้จะเห็นอยู่ว่าเป็นคนไม่ดี ในขณะที่คนที่ (เหมือนจะ) ดี ก็จะเผยให้เห็นเบื้องลึกที่มีความชั่วร้ายแอบแฝงอยู่ เรียกได้ว่าตัวละครจะไม่มีความสุดโต่งในด้านดีและชั่ว แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและมโนธรรมของตัวละครว่าจะเลือกเดินทางไหน
หนังนัวร์เริ่มต้นในยุค ๑๙๔๐ ที่โดดเด่นก็อย่างเช่น Stranger on the Third Floor ช่วงทศวรรษที่ ๔๐ หนังนัวร์เป็นที่นิยมอย่างมาก จนเข้าสู่ยุค ๕๐ ก็เริ่มซาความนิยมลง จากนั้นมาก็มีหนังนัวร์ดีๆ ออกมานับเรื่องได้ ที่นับว่าเป็นที่รู้จักกันอย่างดีก็เช่น Chinatown (1974), Body Heat (1981), The Postman Always Rings Twice (1981), Basic Instinct (1992), L.A. Confidential (1997), Memento (2000) เป็นต้น
Memento (2000) 
ย้อนกลับมาที่ กะโหลกบางตายช้าฯ ในยุคนั้นบ้านเรายังไม่คุ้นเคยกับหนังแนวนี้ซักเท่าไหร่ อีกทั้งดาราก็ไม่ถึงกับขายได้มากนัก จะมีก็เพียงสาวเชคอย่าง คุณอังคณา ทิมดี ที่ดึงหนุ่มๆ เข้าไปชมได้พอสมควร ส่วน คุณสุรศักดิ์ วงษ์ไทย แม้จะพอมีชื่อมาจากหนังกุ๊กกิ๊กอย่าง ซึมน้อยหน่อยฯ และคุณขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย ก็ยังถือว่าใหม่อยู่ ยังขายไม่ค่อยออก โดยรวมแล้วรายได้จึงถือว่าน้อยมาก แต่ในสายตาของนักวิจารณ์และผู้เสพภาพยนตร์แบบดูเอาเรื่อง จัดให้กะโหลกบางตายช้าฯ เป็นหนังคุณภาพอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ซึ่งในปีนั้น (พ.ศ. ๒๕๓๔) กะโหลกบางตายช้าฯ ก็เก็บตุ๊กตาทองไปคนเดียวถึง ๙ ตัว
ตัวละครเด่นๆ ของเรื่องมีเพียงสามตัว สลัก (สุรศักดิ์ วงษ์ไทย) และ ตวง (ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย) เป็นช่างเชื่อมมีฝีมือ ทั้งคู่อยากรวยทางลัดจึงร่วมมือกันปล้น ตวงฆ่าเจ้าทุกข์ตายแต่หนีรอดไปได้ ส่วนสลักถูกจับ แต่เขาก็ไม่ได้ซัดทอดเพื่อน โชคยังเข้าข้างเมื่อนักโทษจำนวนหนึ่งจี้รถเรือนจำขณะขนย้ายนักโทษ สลักจึงหนีรอดออกมาได้ ก่อนจะหนีตำรวจไปอยู่ที่เบตง
ที่เบตง สลักพบกับ มหาเพรง เศรษฐีเจ้าของปั๊มน้ำมัน มีเมียสาวคือ ชนาง (อังคณา ทิมดี) หล่อนรู้ความจริงว่าสลักคือนักโทษแหกคุกจึงขู่ให้สลักงัดเซฟของมหาเพรงแลกกับการเก็บความลับ สลักจำยอมงัดเซฟแต่ปรากฏว่ามหาเพรงมาพบเข้าพอดี ชนางจัดการเก็บมหาเพรงและหมายจะเก็บสลักอีกคน แต่เขาไหวตัวทันและปิดเซฟก่อนที่ชนางจะรู้ว่าในเซฟนั้นมีอะไร อย่างน้อยหล่อนก็ไม่มีทางฆ่าสลักได้ตราบใดที่เซฟยังเปิดไม่ออก
เหมือนโชคชะตาเล่นตลก สลักพบกับตวงโดยบังเอิญและชวนมาอยู่ด้วยกัน ชนางรู้ว่าตวงมีความสามารถในการเปิดเซฟได้เช่นกันจึงขอให้ตวงงัดเซฟให้ สลักก้ห้ามปรามเพื่อนโดยบอกว่าในเซฟไม่มีเงิน ตวงไม่เชื่อสลักแต่ก็ยังไม่ยอมเปิดเซฟให้ชนาง ทั้งสามต่างคุมเชิงกันอยู่ท่ามกลางความตึงเครียด การหลอกลวง หักหลัง และความลับกำลังถูกเปิดเผยโดยมีชีวิตของทั้งสามคนเป็นเดิมพัน
กะโหลกบางตายช้าฯ ถือเป็นของใหม่ของนักดูหนังชาวไทย เนื้อเรื่องที่แปลกกลิ่นสำหรับชาวไทย ตัวหนังทำออกมาสวยทีเดียวเต็มไปด้วยแสงเงาอันเป็นเสน่ห์ของหนังแนวนี้ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองถึง ๙ ตัว ที่เด่นๆ ก็เช่น รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ทั้งสองรางวัลโดย คุณมานพ อุดมเดช) และคุณสุรศักดิ์ วงษ์ไทย ก็ได้รางวัลนำแสดงชายยอดเยี่ยม
ชื่อของผู้กำกับ มานพ อุมเดช ในยุคนั้นถือว่าเป็นของร้อน แม้ว่าเขาเพิ่งทำหนังมาเพียงสามเรื่องก่อนกะโหลกบางตายช้าฯ คือ หย่าเพราะมีชู้ (๒๕๒๘) และ ครั้งเดียวก็เกินพอ (๒๕๓๑) แต่ทั้งสองเรื่องก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากนักวิจารณ์และทำรายได้ได้ดีพอประมาณมานพ เป็นที่รู้จักจากหนังเรื่อง ประชาชนนอก (๒๕๒๔) เป็นหนังกึ่งสารคดีที่เขาเขียนบทและกำกับเอง ได้รับการสนับสนุนจากสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องต่างๆ ประชาชนนอกเล่าถึงปัญหาการย้ายถิ่นฐานของชาวอีสานที่เข้ามาทำมาหากินในเมืองหลวง สะท้อนถึงความแร้นแค้น ความทุกข์ยาก การถูกเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นล่าง ซึ่งเนื้อหาที่ค่อนข้างล่อแหลมในยุคนั้นทำให้มานพถูกจับตามองจากฝ่ายผู้ปกครอง แต่ท้ายสุดตัวหนังก็ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่ของคำวิจารณ์ โดยได้เกียรติเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติลอนดอน ในปี 1981 และในปัจจุบันหนังเรื่องนี้ก็ถูกยกขึ้นหิ้งเป็นหนังไทยที่ดีเรื่องหนึ่ง
ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ หลังจากกะโหลกบางตายช้าฯ ถึง ๘ ปี มานพกลับมาอีกครั้งกับ ดอกไม้ในทางปืน แต่ก็ไม่ค่อยประสบสำเร็จนัก ๔ ปีต่อมาเขากลับมากู้ชื่ออีกครั้งกับ คืนบาปพรหมพิราม (๒๕๔๖) แล้วก็มาตายอีกครั้งกับ ตุ๊กแกผี (๒๕๔๗)

  • ข่าวที่น่าสนใจ
  • ข่าวที่เกี่ยวข้อง
  • 10 หนังดี มีความลับ ที่ผู้กำกับไม่ได้บอก (แต่เราจะเฉลย!!)
    เมื่อความสนุกของผู้กำกับซ่อน 10 ฉากแห่งความลับเอาไว้ในหนังอย่างแนบเนียน เคยสังเกตกันบ้างไหมว่าฉากหนังแต่ละเรื่องนี้กำลังบอกอะไรเราอยู่ ความสนุกและน่าติดตามในหนังแต่ละเรื่องต่อไปนี้จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อคุณรู้ว่าในแต่ละฉากนั้นมีมากกว่าภาพที่เราเห็น และนี่คือตัวอย่าง 10